ประวัติพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)

ประวัติพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)
วัดหนองโพ
อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
จากหนังสือ กิตติคุณหลวงพ่อเดิม
ธนิต อยู่โพธิ์ เรียบเรียง

   ชาติภูมิ หลวงพ่อเดิมถือกำเนิดเมื่อวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒ (แรม ๑๓ ค่ำ นั่นมิใช่วันพุธ เป็นวันศุกร์ตรงกับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๓ โยมบิดาชื่อ นายเนียม โยมมารดาชื่อ นางภู่ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา คือ

๑.   หลวงพ่อเดิม เพราะเหตุที่เป็นบุตรชายคนแรกของบิดามารดา ปู่ย่าตายายจึงให้ชื่อว่า “เดิม”

๒.   นางทองคำ คงหาญ
๓.   นางพู ทองหนุน
๔.   นายดวน ภู่มณี
๕.   นางพัน จันทร์เจริญ
๖.   นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น

   เมื่อหลวงพ่อเกิดนั้นหลวงพ่อเฒ่า (รอด)ได้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ครองวัดหนองโพก็ผลัดเปลี่ยนสมภารสืบต่อกันมา ดังกล่าวในตำนานสังเขปท้ายเล่ม การศึกษาของหลวงพ่อเมื่อรุ่นเยาว์วัยก่อนอุปสมบทนั้น คงจะไม่ไต้เล่าเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก ยิ่งเป็นลูกคนโตของพ่อแม่เช่นหลวงพ่อด้วย โอกาสที่จะได้เล่าเรียนอยู่วัดอยู่วาในสมัยอายุเยาว์วัยก็ย่อมมีน้อยที่สุด เข้าใจว่า หลวงพ่อเห็นจะไม่ได้เล่าเรียนอะไรเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่เคยได้ยินใครเล่าให้ฟังถึงการศึกษาของหลวงพ่อในสมัยเยาว์วัย
ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ โยมผู้ชายของหลวงพ่อได้พาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุภาวะ ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์โดยมีหลวงพ่อแก้ววัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌายะ และหลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง (๑) ตำบลท่าน้ำอ้อย กับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ตำบลสระทะเล เป็นคู่สวด เมื่ออุปสมบท พระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า “พุทฺธสโร”

------------------------------------------------
(๑.)   หลวงพ่อเงินวัดพระปรางค์เหลืองนี้ต่อมาเป็นพระครูพยุหานุศาสก์ เจ้าคณะแขวงพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ ประชากรนับถือกันว่าเป็นพระผู้เฒ่าที่มีคาถาอาคมขลัง และมีชื่อเสียงทางรดน้ำมนต์

   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลนครสวรรค์ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาได้เสด็จขึ้นแวะเยี่ยมและโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวายเมื่อวันที่ ๑๑ สิงนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ (ดู - จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๒)
ครั้นอุปสมบทแล้วก็มาอยู่วัดหนองโพ และได้เริ่มเล่าเรียนศึกษาเป็นจริงเป็นจังในระยะนี้เพราะเหตุที่หลวงพ่อไม่มีโอกาสได้อยู่วัดอยู่วาเล่าเรียนศึกษากับพระมาตั้งแต่เยาว์วัย เหมือนกุลบุตรทั้งหลายโดยทั่วไปในสมัยนั้นความรู้ในวิชาหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติกุลบุตรอื่นๆ ที่เคยเป็นศิษย์วัด เมื่อระยะเด็กเขาศึกษาเล่าเรียนกันมาแต่ก่อนบวช หลวงพ่อต้องมาเล่าเรียนเอาเมื่อตอนอุปสมบทแล้วแทบทั้งนั้น แต่หลวงพ่อเป็นคนมีมานะพากเพียรเป็นยอดเยี่ยม
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า “ท่านมีนิสัยจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอมหยุดคิด คิดมันไปจนออกจนเข้าใจ ดูอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ความ ก็คิดค้นมันไปจนแตกฉาน”
พออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อก็ตั้งต้นศึกษาความรู้เป็นการใหญ่ เมื่อมาจำพรรษาอยู่ในวัดหนองโพตลอดเวลา ๗ พรรษาแรกได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและท่องคัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก (๒) กับหลวงตาชม ซึ่งเป็นผู้ครองวัดหนองโพอยู่ในเวลานั้น และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาอาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นเล็กของหลวงพ่อเฒ่าและยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น

-------------------------------------------------

(๒.)   คัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก นั้นคือ หนังสือที่ต่อมาได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มเรียกชื่อว่า บุพพสิกขาวรรณนา ของพระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส

   ภายหลังเมื่อนายพันถึงมรณกรรมแล้ว ได้ไปจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ อยู่วัดบ้านบน ๒ พรรษา ในตอนนี้หลวงพ่อก็หาโอกาสไปเรียนและหัดเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทอง และไปมอบตัวเป็นศิษย์เรียนข้อธรรมและวินัยกับอาจารย์แย้ม ซึ่งเป็นฆราวาสและอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลืองด้วย จนนับว่าเป็นผู้มีความรู้แตกฉานพอแก่สมัยนั้นก็เริ่มเป็นนักเทศน์

   เล่ากันมาว่า หลวงพ่อเคยเทศน์เก่ง ทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว ฉลาดในการวิสัชนาปัญหาธรรม และเข้าใจแยกแยะให้อรรถาธิบายข้อธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย จนปรากฏว่าในครั้งนั้นมีคนชอบนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์กันเนื่องๆ พูดกันจนถึงว่า พอเทศน์ในงานนี้จบ ก็มีคนเข้าไปประเคนพานหมากนิมนต์ไปเทศน์ในงานโน้นอีก ติดต่อกันไป

หลวงพ่อเป็นนักเทศน์อยู่หลายปี แต่แล้วหลวงพ่อก็เลิกเทศน์ เหตุที่เลิกเทศน์นั้น เพราะหลวงพ่อปรารภว่า

“มัวแต่ไปเที่ยวสอนคนอื่น และเอาสตางค์เขาเสียอีกด้วย ส่วนตัวเองไม่สอนสักที ต่อไปนี้ต้องสอนตัวเองเสียที”  
  
   ต่อแต่ นั้นมาก็เลิกเทศน์เป็นเด็ดขาด แม้จะมีใครมานิมนต์เทศน์อีกหลวงพ่อก็ไม่รับนิมนต์ ถ้าเจ้าของงานต้องการจะได้พระเทศน์จริง ๆ หลวงพ่อก็ระบุให้ไปนิมนต์พระภิกษุรูปอื่นไปเทศน์แทน แต่ถ้าเป็นธรรมสากัจฉา หลวงพ่อก็ชอบฟัง และถ้าปัญหาธรรมที่หยิบยกขึ้นมาวิสัชนากันนั้น แก้ไขกันไม่แจ่มแจ้งหลวงพ่อก็ช่วยวิสัชนาแยกแยะอรรถาธิบายให้แจ่มแจ้งจนคลาย ข้อกังขาเมื่อเลิกเป็นนักเทศน์แล้วในพรรษาที่ ๙ - ๑๐ และ ๑๑ หลวงพ่อได้ไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหะดีรี จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงพ่อปฏิบัติจริงจังตลอดมา ท่านนั่งตัวตรงตามหลักพระบาลีที่ว่า “นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา อุชุ กายํ ปณิธาย ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา - นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ตั้งสติกำหนดอารมณ์ไว้เฉพาะหน้า” หลวงพ่อนั่งตัวตรงเสมอมาจนอายุ ๙๐ เศษ ก็ยังนั่งตัวตรง 


หน้า 2 ....